อัพเดทกฎกระทรวงการทำงานบนที่สูง 2564

 

 

กฎกระทรวง

 

 

กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย 


และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ในสถานที่ที่มีอันตรายจากการตกจากที่สูงและที่ลาดชัน 
จากวัสดุกระเด็น


ตกหล่น และพังทลาย และจากการตกลงไปในภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุ 
พ.ศ. ๒๕๖๔

 


                    
                

 

 

 
                    อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย
          และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๕๔ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

 

                    ข้อ ๑ ในกฎกระทรวงนี้

 

          

                    ทำงานในที่สูงหมายความว่า การทำงานในพื้นที่ปฏิบัติงานที่สูงจากพื้นดิน หรือจากพื้นอาคาร ตั้งแต่สองเมตรขึ้นไป

          ซึ่งลูกจ้างอาจพลัดตกลงมาได้

                    

                    นั่งร้านหมายความว่า โครงสร้างชั่วคราวที่สูงจากพื้นดินหรือจากพื้นอาคาร หรือส่วนของ สิ่งก่อสร้าง สำหรับเป็นที่รองรับ

          ลูกจ้าง วัสดุ หรือเครื่องมือและอุปกรณ์

                    

                    อาคารหมายความว่า อาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร

 

 

หมวด ๑

บททั่วไป

 


         
                     

                    ข้อ ๒ นายจ้างต้องจัดให้มีข้อบังคับและขั้นตอนการปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัย ในการทำงานในที่สูง ที่ลาดชัน ที่อาจมีการกระเด็น
          ตกหล่นหรือพังทลายของวัสดุสิ่งของ และที่อาจทำให้ ลูกจ้างพลัดตกลงไปในภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุ ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย 
          การระบุอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงาน การวางแผนการปฏิบัติงาน และการป้องกันและควบคุมอันตราย รวมทั้งต้องอบรมหรือชี้แจง
          ให้ลูกจ้างได้รับทราบก่อนเริ่มปฏิบัติงานและควบคุมดูแลให้ลูกจ้างปฏิบัติตาม อย่างเคร่งครัด และต้องมีสำเนาเอกสารดังกล่าวไว้
          ให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบได้

 

 


                    ข้อ ๓ ในการประกอบ การติดตั้ง การตรวจสอบ และการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตราย จากการตกจากที่สูงและที่ลาดชัน

          จากวัสดุกระเด็นตกหล่นหรือฟังทลาย และจากการตกลงไป ในภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุ ให้นายจ้างปฏิบัติตามรายละเอียดคุณลักษณะ

          และคู่มือการใช้งานที่ผู้ผลิตกำหนดไว้ หากไม่มีรายละเอียดคุณลักษณะ และคู่มือการใช้งานดังกล่าว นายจ้างต้องดำเนินการ ให้วิศวกร

          ซึ่งได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร เป็นผู้จัดทำรายละเอียดคุณลักษณะ

          และคู่มือการใช้งานขึ้นเป็นหนังสือและต้องมีสำเนาเอกสาร ดังกล่าวไว้ให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบได้    

  

                    

 
 
                    ข้อ ๔ นายจ้างต้องจัดให้มีอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่มีมาตรฐาน เหมาะสมกับสภาพของการทำงานในที่สูง ที่ลาดชัน
          ที่อาจมีการกระเด็น ตกหล่น หรือพังทลาย ของวัสดุสิ่งของ และที่อาจทำให้ลูกจ้างพลัดตกลงไปในภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุ และลักษณะของอันตราย
          ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงาน เช่น เข็มขัดนิรภัย เชือกนิรภัยหรือสายช่วยชีวิต หมวกนิรภัย รองเท้าชนิดหุ้มส้นพื้นยางหรือถุงมือ 
          และดูแลให้ลูกจ้างใช้อุปกรณ์นั้นในกรณีที่ให้ลูกจ้างใช้เข็มขัดนิรภัยและเชือกนิรภัยหรือสายช่วยชีวิตพร้อมอุปกรณ์ประกอบ นายจ้างต้องจัดทำจุดยึดตรึง
          เชือกนิรภัยหรือสายช่วยชีวิตไว้กับส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคาร หรือโครงสร้างอื่นใด ที่มีความมั่นคง แข็งแรง และปลอดภัยต่อการใช้งานช่วยชีวิตไว้
          กับส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคาร หรือโครงสร้างอื่นใด ที่มีความมั่นคง แข็งแรง และปลอดภัยต่อการใช้งาน

 

 

                    ข้อ ๕ นายจ้างต้องจัดให้มีการบำรุงรักษาอุปกรณ์ป้องกันอันตรายตามข้อ ๓ และอุปกรณ์ คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตามข้อ ๔

          ตามมาตรฐานที่ผู้ผลิตกำหนด และจัดให้มีการตรวจสอบ สภาพของอุปกรณ์ให้มีความปลอดภัยก่อนการใช้งานทุกครั้ง และต้องมีสำเนาเอกสารดังกล่าวไว้

          ให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบได้

 

 

                    ข้อ ๖ ในกรณีที่นายจ้างต้องจัดทำราวกั้นหรือรั้วกันตก ราวกั้นหรือรั้วกันตกต้องมี ความสูงไม่น้อยกว่าเก้าสิบเซนติเมตร แต่ไม่เกิน

          หนึ่งเมตรสิบเซนติเมตร ซึ่งมีความมั่นคง แข็งแรง และปลอดภัย เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ใช้แผงทึบแทนราวกั้นหรือรั้วกันตก 

          แผงทึบต้องมีความสูงไม่น้อยกว่าเก้าสิบเซนติเมตร

 

                    ข้อ ๗ สำเนาเอกสารตามข้อ ๒ ข้อ ๓ และข้อ ๕ จะอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

 

 

หมวด ๒

การป้องกันอันตรายจากการตกจากที่สูงและที่ลาดชัน

 


 

 

                    

 

 
                    ข้อ ๘ ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในที่สูง นายจ้างต้องจัดให้มีนั่งร้าน หรือ ดำเนินการด้วยวิธีการอื่นใดที่เหมาะสม
          กับสภาพของการทำงาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ลูกจ้าง โดยต้องมีความมั่นคง แข็งแรง และปลอดภัย

 

 

                    ข้อ ๙ ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในที่สูงตั้งแต่สี่เมตรขึ้นไป นายจ้างต้องจัดทำ ราวกั้นหรือรั้วกันตก ตาข่ายนิรภัย

          หรืออุปกรณ์ป้องกันอื่นใดที่เหมาะสมกับสภาพของการทำงาน ทั้งนี้ ต้องจัดให้มีการใช้เข็มขัดนิรภัยและเชือกนิรภัยหรือสายช่วยชีวิต

          พร้อมอุปกรณ์ตลอดระยะเวลาการทำงาน

          

                    

 

                    ข้อ ๑๐ ในกรณีที่มีปล่องหรือช่องเปิดต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้ลูกจ้างพลัดตก นายจ้าง ต้องจัดทำฝาปิดที่แข็งแรง ราวกั้น รั้วกันตก

          หรือแผงทึบตามข้อ ๖ พร้อมทั้งติดป้ายเตือนอันตราย ให้เห็นได้อย่างชัดเจน

      

                    

 

                    ข้อ ๑๑ นายจ้างต้องมิให้ลูกจ้างทำงานในที่สูงนอกอาคารหรือพื้นที่เปิดโล่ง ในขณะที่มีพายุ ลมแรง ฝนตกหรือฟ้าคะนอง

          เว้นแต่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องให้ลูกจ้างทำงานเพื่อให้เกิดความปลอดภัย หรือบรรเทาเหตุอันตรายที่เกิดขึ้น โดยต้องจัดให้มีมาตรการ

          เพื่อความปลอดภัยของลูกจ้าง

                    

                    

 

                    ข้อ ๑๒ ในกรณีที่ลูกจ้างต้องใช้บันไดไต่ชนิดเคลื่อนย้ายได้เพื่อทำงานในที่สูง นายจ้าง ต้องดูแลการตั้งบันไดให้ระยะระหว่างฐานบันได

          ถึงผนังที่วางพาดบันไดกับความยาวของช่วงบันได นับจากฐานถึงจุดพาดมีอัตราส่วนหนึ่งต่อสี่ หรือมีมุมบันไดที่ตรงข้ามผนังเจ็ดสิบห้าองศา

 

                    บันไดไต่ ตามวรรคหนึ่งจะต้องมีโครงสร้างที่มั่นคง แข็งแรง และปลอดภัยต่อการใช้งาน มีความกว้างของบันไดไม่น้อยกว่าสามสิบเซนติเมตร

          ทั้งนี้ บันไดไต่ต้องมีขาบันไดหรือสิ่งยึดโยง ที่สามารถป้องกันการลื่นไถลของบันไดได้

 

                    

 

 

                    ข้อ ๑๓ ในกรณีที่ลูกจ้างต้องใช้บันไดไต่ชนิดติดตรึงกับที่ที่มีความสูงเกินหกเมตรขึ้นไป เพื่อทำงานในที่สูง 

          นายจ้างต้องดูแลบันไดไต่ชนิดติดตรึงกับที่ให้มีโครงสร้างที่มั่นคง แข็งแรง และปลอดภัยต่อการใช้งานและต้องจัดทำโกร่งบันได

          เพื่อป้องกันการพลัดตกของลูกจ้าง

      

                    

              

                    ข้อ ๑๔ ในกรณีที่ลูกจ้างต้องใช้ขาหยั่งหรือม้ายืนเพื่อทำงานในที่สูง นายจ้างต้องดูแล ให้ขาหยั่งหรือม้ายืนนั้นมีโครงสร้าง

          ที่มั่นคง แข็งแรงและปลอดภัยต่อการใช้งาน และมีพื้นที่สำหรับ ยืนทำงานอย่างเพียงพอ

          

          

                    ข้อ ๑๕ ในกรณีที่มีการทำงานบนที่ลาดชันที่ทำมุมเกินสิบห้าองศาแต่ไม่เกินสามสิบองศา จากแนวราบ และมีความสูง

          ของพื้นระดับที่เอียงนั้น ตั้งแต่สองเมตรขึ้นไป นายจ้างต้องจัดให้มีนั่งร้าน ที่เหมาะสมกับสภาพของการทำงาน หรือเข็มขัดนิรภัย

          และเชือกนิรภัยหรือสายช่วยชีวิตพร้อมอุปกรณ์หรือมาตรการป้องกันการพลัดตกอื่นใดที่เหมาะสมกับสภาพของการทำงาน

 

                    ในกรณีที่มีการทำงานบนที่ลาดชันที่ทำมุมเกินกว่าสามสิบองศาจากแนวราบ และมีความสูง ของพื้นระดับที่เอียงนั้นตั้งแต่สองเมตรขึ้นไป

          นายจ้างต้องจัดให้มีนั่งร้านที่เหมาะสมกับสภาพของ การทำงาน หรือมาตรการป้องกันการพลัดตกอื่นใดที่เหมาะสมกับสภาพของการทำงาน 

          และเข็มขัดนิรภัยและเชือกนิรภัยหรือสายช่วยชีวิตพร้อมอุปกรณ์

 

 

หมวด ๓

การป้องกันอันตรายจากวัสดุกระเด็น ตกหล่น และพังทลาย

 


 

                     

 

                    ข้อ ๑๖ ในกรณีที่มีการลำเลียงวัสดุสิ่งของขึ้นหรือลงจากที่สูง หรือลำเลียงวัสดุสิ่งของบนที่สูง นายจ้างต้องจัด

          ให้มีราง ปล่อง เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่เหมาะสมในการลำเลียง เพื่อป้องกัน อันตรายจากวัสดุสิ่งของกระเด็นหรือตกหล่น

 

                                         

 

                    ข้อ ๑๗ นายจ้างต้องกำหนดเขตอันตรายในบริเวณพื้นที่ที่อาจมีการกระเด็น ตกหล่น หรือพังทลายของวัสดุสิ่งของ

          และติดป้ายเตือนอันตรายบริเวณพื้นที่ดังกล่าว พร้อมทั้งจัดให้มี มาตรการควบคุมดูแลเพื่อให้เกิดความปลอดภัยจนกว่างานจะแล้วเสร็จ

 

                    

 

                    ข้อ ๑๘ ในกรณีที่มีวัสดุสิ่งของอยู่บนที่สูงที่อาจกระเด็น ตกหล่น หรือฟังทลายลงมาได้ นายจ้างต้องจัดทำขอบกันของตก

          หรือมาตรการป้องกันอื่นใดที่เหมาะสมกับสภาพของการทำงาน

 

                    ข้อ ๑๙ ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานบริเวณใกล้เคียงหรือทำงานในสถานที่ที่อาจมี การกระเด็น ตกหล่น หรือพังทลาย

          ของวัสดุสิ่งของนายจ้างต้องจัดให้มีมาตรการควบคุมดูแลเพื่อให้เกิด ความปลอดภัยแก่ลูกจ้างตลอดระยะเวลาการทำงาน

      

                    ข้อ ๒๐ ในบริเวณที่เก็บหรือกองวัสดุสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายจากการตกหล่น หรือ พังทลายของวัสดุสิ่งของดังกล่าว

          ให้นายจ้างจัดเรียงวัสดุสิ่งของให้เกิดความมั่นคงปลอดภัย ทำผนังกั้น หรือใช้วิธีการอื่นใด เพื่อป้องกันอันตรายจากการตกหล่น

          หรือพังทลายของวัสดุสิ่งของนั้น

 

                    ในกรณีที่มีการเคลื่อนย้ายวัสดุสิ่งของตามวรรคหนึ่ง ให้นายจ้างจัดให้มีมาตรการป้องกันอันตราย จากการตกหล่น หรือพังทลาย

          ของวัสดุสิ่งของที่จะทำการเคลื่อนย้ายนั้นด้วย

 

                    

 

                    

 

 
                    ข้อ ๒๑ ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในท่อ ช่อง โพรง บ่อ หรือสถานที่อื่นใด ที่อาจเกิดการพังทลายได้ ให้นายจ้าง
          จัดทำผนังกั้น ค้ำยัน หรือใช้วิธีการอื่นใดที่สามารถป้องกัน อันตรายจากการพังทลายที่อาจเกิดขึ้นนั้นได้

 

 

หมวด ๔

การป้องกันอันตรายจากการตกลงไปในภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุ

 


                    

                    

 

 

                    ข้อ ๒๒ ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในบริเวณหรือสถานที่ใด หรือลักษณะของ การทำงานอาจทำให้ลูกจ้างได้รับอันตราย

          จากการพลัดตกลงไปในภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุ เช่น ถัง บ่อ กรวย ภาชนะหรือสิ่งอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกันที่ลูกจ้างอาจพลัดตกลงไปได้

          นายจ้างต้องจัดให้มีสิ่งปิดกั้น ที่มั่นคงแข็งแรง จัดทำราวกันหรือรั้วกันตกที่มั่นคงแข็งแรงล้อมรอบภาชนะนั้น เพื่อป้องกันการพลัดตกลง

          ไปของลูกจ้าง

 

                    ในกรณีที่นายจ้างไม่อาจดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งได้ นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้าง สวมใส่เข็มขัดนิรภัยและเชือกนิรภัย

          หรือสายช่วยชีวิตตลอดระยะเวลาการทำงาน

 

                    ข้อ ๒๓ นายจ้างต้องมิให้ลูกจ้างทำงานบนภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุ เช่น ถัง บ่อ กรวย ภาชนะหรือสิ่งอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกัน

          ที่ลูกจ้างอาจพลัดตกลงไปได้ เว้นแต่นายจ้างได้จัดให้มีสิ่งปิดกั้น จัดทำราวกั้นหรือรั้วกันตก หรือสิ่งป้องกันอื่นใดที่มั่นคงแข็งแรงเหมาะสม

          กับสภาพของการทำงาน หรือจัดให้ลูกจ้างสวมใส่เข็มขัดนิรภัยและเชือกนิรภัยหรือสายช่วยชีวิตตลอดระยะเวลาการทำงาน หากนายจ้าง

          ให้ลูกจ้างทำงานในภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุ ต้องให้ลูกจ้างสวมใส่เข็มขัดนิรภัยและ เชือกนิรภัยหรือสายช่วยชีวิตตลอดระยะเวลาการทำงานด้วย

 

                    ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานบนภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุที่มีความสูงตั้งแต่สี่เมตรขึ้นไป นายจ้างต้องจัดให้มีสิ่งปิดกั้น

          จัดทำราวกั้นหรือรั้วกันตก หรือสิ่งป้องกันอื่นใดที่มั่นคง แข็งแรงเหมาะสมกับสภาพของการทำงาน และต้องให้ลูกจ้างสวมใส่เข็มขัดนิรภัย

          และเชือกนิรภัย หรือสายช่วยชีวิตตลอดระยะเวลาการทำงานด้วย

 

 

กฎกระทรวง

  

กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย 


และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ในสถานที่ที่มีอันตรายจากการตกจากที่สูงและที่ลาดชัน จากวัสดุกระเด็น


ตกหล่น และพังทลาย และจากการตกลงไปในภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุ 
พ.ศ. ๒๕๖๔

 

»» ดาวน์โหลดฟรี ««

Visitors: 1,182,857